วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สารคดี

วาฬหลังค่อม
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลออกมาระบุเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า คลื่นเสียงรบกวนใต้ทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งเพิ่มระดับความดังขึ้นทุกที ไม่ว่าเสียงคำรามของเครื่องยนต์เรือเดินสมุทร การสำรวจแรงสั่นสะเทือนโดยบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือคลื่นโซนาร์จากกองทัพเรือ กำลังคุกคามวิถีชีวิตสัตว์ทะเลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวาฬ โลมา และเต่าทะเล ซึ่งใช้คลื่นเสียงในการสื่อสาร หาอาหาร และจับคู่ผสมพันธุ์
ผู้เชี่ยวชาญยังคาดว่าสัตว์ทะเลที่ตื่นตกใจจากเสียงรบกวนอาจดำน้ำอย่างผิดปรกติ กระทั่งได้รับความทรมานจากอาการป่วยแบบที่เกิดกับนักดำน้ำเมื่อดำน้ำลึกแล้วรีบขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันพักปรับระดับความดันตามกำหนด
จากรายงาน Ocean Noise: Turn It Downโดยกองทุนนานาชาติเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ ระบุว่าระยะทางที่วาฬสีน้ำเงินสามารถใช้เสียงเพื่อการสื่อสารถูกตัดขาดถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์จากผลกระทบของเสียงรบกวนใต้น้ำที่ดังมากขึ้น
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า ช่วงเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา คลื่นเสียงรบกวนความถี่ต่ำใต้ทะเลมีระดับความดังเพิ่มเป็น ๒ เท่าทุก ๆ ๑๐ ปี ขณะที่จำนวนเรือเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่า
ผลกระทบจากเรือที่มีจำนวนมากขึ้นและมีความเร็วสูงขึ้นทำให้มีสัตว์ทะเลถูกเรือชนเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญยังแสดงความกังวลต่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดสูงขึ้นและสามารถดูดซับเสียงรบกวนใต้น้ำได้น้อยลง
“เมื่อใต้น้ำเต็มไปด้วยเสียงรบกวน สัตว์ทะเลจะไม่ได้ยินเสียงเรือที่กำลังแล่นมา” มาร์ก ซิมมอนดส์ ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์แห่งสมาคมอนุรักษ์วาฬและโลมา กล่าวถึงผลกระทบที่ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่
นักอนุรักษ์สัตว์ทะเลออกมาเรียกร้องรัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมประเทศต่าง ๆ ให้หันมาใช้เครื่องยนต์เรือที่ส่งเสียงเบากว่าเดิม เข้มงวดต่อการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล รวมทั้งลดการปล่อยคลื่นโซนาร์โดยกองทัพเรือด้วย

ข่าวแจก


มสด.ให้ทุนนักศึกษา แก้ปัญหากู้เงินเรียน
ใน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนตกงาน รายได้ลด รายจ่ายมาก แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาด้วย เพราะในแต่ละปีมีนักเรียน นักศึกษาเป็นจำนวนมากต้องอาศัยการกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการ ศึกษา (กยศ.) และในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ส่งผลให้จำนวนการขอกู้เงินเพื่อการศึกษามี มากขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีนักเรียน นักศึกษาที่เป็นผู้กู้รายเก่าอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วทำให้การขยายโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาลโดยให้เงินกู้ยืม นั้นไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ขอกู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในแต่ละปีการศึกษาก็มีนักศึกษาที่เข้าศึกษา ต่อและอยู่ในกลุ่มต้องกู้ยืมกองทุน กยศ. ซึ่งที่ผ่านมาจะประสบปัญหาที่นักศึกษาบางส่วนไม่ได้รับการอนุมัติให้เงินกู้ เนื่องจากมีผู้กู้จำนวนมาก และมหาวิทยาลัยได้รับเงินจัดสรรให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวนจำกัด ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงมีโครงการในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มี ความประสงค์จะขอกู้เงินเรียน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และผู้ปกครอง ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษา
ผศ.ทิพย์วิมล กิตติวราพล ผู้อำนวยการศูนย์สนเทศแนะแนวการศึกษาและอาชีพ มสด. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีโครงการในการช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุน ทรัพย์ ทั้งในรูปแบบโครงการให้ทุนโดยจัดหาทุนในแต่ละปี รวมถึงมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ของมหาวิทยาลัยเอง โดยให้นักศึกษากู้ยืมเงินในการชำระค่าเล่าเรียน และนักศึกษาผ่อนชำระคืนในภายหลัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจัดให้มีโครงการสวนดุสิตเสริมโอกาส โดยให้นักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการทำงานในหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เดือนละ 75 ชั่วโมง โดยได้รับค่าตอบแทน 3,000 บาท ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากนักศึกษาจะได้เงินเพื่อไปใช้จ่ายในการเรียนแล้ว นักศึกษายังได้เรียนรู้ ได้ประสบ การณ์ในการทำงาน ฝึกในด้านความรับผิดชอบ นักศึกษาจะเห็นคุณค่าของเงินที่ได้รับ เพราะเงินที่ได้รับได้จากการทำงานของตนเอง
น.ส.สุกัญญา กวยทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มสด. หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ นักศึกษาในโครงการสวนดุสิตเสริมโอกาส กล่าวว่า ได้ทำงานในโครงการสวนดุสิตเสริมโอกาส ทำให้มีค่าใช้จ่ายในด้านการเรียน มาทำงานในโครงการนี้ได้ประโยชน์มาก ทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำงาน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การทำงานด้านเอกสารต่างๆ แล้วก็ไม่เสียการเรียนค่ะ เพราะทำงานในช่วงที่ว่างจากการเรียน ส่วนในเรื่องของกองทุน กยศ.เคยยื่นขอกู้ไปแล้วแต่ไม่ได้ เพิ่งทราบในภายหลังว่ามีเพื่อนยื่นขอเยอะ และบางคนลำบากมากกว่าเรา รวมถึงได้มาทำโครงการ 75 ชั่วโมงของมหาวิทยาลัยแล้วก็ถือว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้มาก ขึ้น จึงไม่ได้รู้สึกไม่ดีกับกองทุน กยศ.แต่อย่างใด
น.ส.ขวัญใจ แซ่เติ๋น นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มสด. หลักสูตรจิตวิทยา นักศึกษาโครงการสวนดุสิตเสริมโอกาส กล่าวว่า ได้มาทำงานในโครงการสวนดุสิตเสริมโอกาสของมหาวิทยาลัย ทำให้ได้เรียนรู้การทำงาน โดยเฉพาะงานด้านเอกสาร รวมถึงมีรายได้พิเศษด้วยก็นำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนได้
นาย นัฐวุฒิ จันทร์พุ่ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มสด. หลักสูตรนิติศาสตร์ นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. กล่าวว่า เคยเจอปัญหาในเรื่องของเอกสาร เช่น การขอรับรองรายได้ผู้กู้ สถานะครอบครัว เพราะที่บ้านไม่มีใครเป็นข้าราชการ บางทีข้าราชการที่เราไปขอให้เซ็นรับรองก็ไม่ค่อยอยากจะเซ็นรับรองให้ ส่วนในเรื่องข้อมูล ระเบียบข้อกำหนด ขั้นตอนต่างๆ ของการกู้ยืม คิดว่ามีความชัดเจน ละเอียด และเข้าใจง่าย และปกติตนเองเป็นคนติดตามข่าวสารเรื่องการกู้ยืมอยู่ตลอด ทำให้ส่งเอกสารต่างๆ ได้ตามเวลาที่กำหนด ส่วนเรื่องความล่าช้าต่างๆ เข้าใจว่าปัจจุบันจำนวนผู้กู้มีจำนวนมาก และเอกสารก็มากตามไปด้วย อาจทำให้กระบวนการในการตรวจสอบและอนุมัติเงินกู้มีความล่าช้า เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลเพิ่มค่าครองชีพจากเดิม 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าครองชีพมีมากขึ้น ทำให้ไม่เพียงพอ
น. ส.สุทธิวาท สุวรรณกุลรัตน์ ชั้นปีที่ 4 มสด. หลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการยื่นเรื่องกู้ยืม คือเรื่องของเอกสาร ที่อาจหาไม่ทัน ไม่ครบ รวมถึงเรื่องการรับรองรายได้ อย่างเพื่อนที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดต้องหากำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านมารับรองให้ ซึ่งกว่าจะส่งเอกสารไปและส่งกลับมาอีกทีต้องใช้ระยะเวลานาน ส่งผลให้มายื่นเอกสารช้า ไม่ตรงเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่าเอกสารมีรายละเอียดมาก บางคำถามไม่เข้าใจ ไม่สามารถเขียนตอบได้หมด เอกสารห้ามเขียนผิด ห้ามมีรอยลบ สำหรับเรื่องการได้เงินกู้ช้าคิดว่าจำนวนผู้กู้มีจำนวนมาก ทำให้กระบวนการอาจเกิดการล่าช้าได้ สิ่งที่อยากให้แก้ไขคือเรื่องความรวดเร็วเรื่องการส่งเงินให้ผู้กู้ เพราะส่งเงินมาช้า บางทีมีความจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องหางานพิเศษทำเพื่อให้ได้เงินนำมาใช้จ่ายก่อน
การศึกษา เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจ เป็นราก ฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากเด็กไทยในวันนี้ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าและเป็นอนาคตของชาติ ยังขาดการดูแลและเอาใจใส่ในเรื่องการให้การศึกษาคงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของ รัฐบาล หรือสถานศึกษาที่ต้องดูแลเท่านั้น หากแต่ภาคเอกชนรวมถึงผู้ปกครองจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญและเอาใจใส่ มากกว่านี้
ฝ่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
เบอร์ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ 02-244-5101