วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเขียนเพื่อการประชาสัมพันธ์ทั้ง 3 ลักษณะ

1. ข่าวเกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง

สวนดุสิต ปลื้ม ! ยอดสมัครเรียนล้น...สาขาพยาบาล
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม , อุตสาหกรรมอาหารและบริการแข่งขันสูง

อาจารย์สวงศ์ บุญปลูก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ มสด. เปิดรับสมัครนักเรียนนักศึกษา ที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2552 ในระบบรับตรงและโควต้า ปรากฏว่ามีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนต่อจำนวนมากถึง 12,000 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยรองรับได้เพียง 2,500 คน ใน 5 คณะ คือคณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้งนี้จากข้อมูลยังพบว่า คณะที่นักศึกษามียอดผู้สมัครมาก และมีอัตราการแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากมีจำนวนรับไม่มากได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ / คณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ / คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลักสูตรอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของ มสด. ที่มี
ความเชี่ยวชาญทางด้านอาหารและการบริการ รวมทั้งพยาบาลศาสตร์ที่เปิดการเรียนการสอนเป็นปีที่3 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยจะประกาศรายชื่อผู้เข้าศึกษาต่อในวันที่ 9มกราคม พ.ศ.2552 และจะเปิดรับสมัครนักศึกษาในระบบรับตรง ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนมกราคม 2552 เนื่องจากในปีนี้มีผู้สมัครสอบจำนวนมาก ทางมสด. จึงเน้นในเรื่องของบุคลิกภาพของนักศึกษาให้มีคุณลักษณะและบุคลิกภาพที่ดี เหมาะสมกับวิชาชีพ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน

2. ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดทำเพื่อการประชาสัมพันธ์

น้ำอบไทยสวนดุสิต...ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ โดยสถาบันภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม

ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานในช่วงที่ลมร้อนพัดมาเยือน อย่างเช่นประเพณีสงกรานต์ กิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งได้มาช่วยคลายร้อน นั่นคือ การเล่นน้ำสงกรานต์ ตั้งแต่สมัยโบราณ เรามักใช้น้ำอบไทย ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จากการปรุงกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ จากดอกไม้ไทยนานาพันธุ์ สำหรับรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ในเทศกาลวันปีใหม่ไทย แม้ว่าปัจจุบันกลิ่นหอมของน้ำอบไทยอาจจางหายจากสังคมไทยไปบ้าง เพราะการเข้ามาแทนที่ของการสาดน้ำอย่างสนุกสนาน โดยใช้น้ำประปาตระเวนไปตามท้องถนน และตามที่ต่างๆ สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่จะส่งเสริม อนุรักษ์ และสืบทอด ความเป็นไทยทั้งในเรื่องของงานศิลปะประดิษฐ์และงานวัฒธรรม ให้กับประเพณีไทยอย่างเช่นสงกรานต์ ทางสถาบันฯ จึงได้เผยเคล็ดลับการปรุงน้ำอบไทยในสูตรของสวนดุสิต นางสาวบุษกร เข่งเจริญ วิทยากรประจำสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้เปิดเผยสูตรการปรุงน้ำอบไทยสวนดุสิต ว่า “การปรุงน้ำอบไทยของสวนดุสิต เริ่มต้นด้วยการ เตรียมส่วนผสม ๓ ส่วนด้วยกัน คือ เครื่องต้มประกอบด้วย จันทน์เทศ ใบเตย ชะลูด เครื่องร่ำ ประกอบด้วย กำยานป่น จันทน์เทศป่น ผิวมะกรูดป่น น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง พิมเสน น้ำมันจันทน์ และเครื่องปรุง ประกอบด้วยแป้งหิน ชะมดเช็ด พิมเสน และหัวน้ำหอมกลิ่นดอกไม้ไทย เช่น กุหลาบ มะลิ กระดังงา ลีลาวดี ลำเจียก ฯลฯ ในส่วนของวิธีทำ เริ่มต้นจากการต้มน้ำให้เดือด แล้วใส่จันทน์เทศสับกับชะลูด ต้มต่อจนน้ำเป็นสีเหลือจางๆ ใส่ชะลูดพร้อมใบเตย จากนั้นต้มต่อ ๑๕ นาที แล้วยกลงกรองด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ให้เย็น ต่อไปเป็นขั้นตอนการอบควันเทียน ๓-๕ ครั้ง ครั้งละ ๑๕-๒๐ นาที ต่อด้วยขั้นตอนการอบร่ำ โดยนำน้ำที่เย็นแล้วมาอบร่ำ แล้วนำเครื่องอบร่ำทั้งหมดผสมรวมกันใส่กำยานป่น จันทน์เทศป่น ผิวมะกรูดป่น น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง พิมเสน น้ำมันจันทน์ ผสมให้เข้ากัน นำทวนวางกลางโถสำหรับรองรับตะคันที่ร้อนแล้วใส่เครื่องปรุงที่เตรียมไว้แล้วปิดฝา อบประมาณ ๓-๕ ครั้ง ครั้งละ ๑๐-๑๕ นาที ขั้นตอนการปรุงกลิ่น เมื่ออบควันเทียนเสร็จแล้วให้นำพิมเสนบดละเอียด ผสมกับแป้งหินบดให้เข้ากันจนเนียน ใส่ชะมดเช็ดและหยดหัวน้ำหอมกลิ่นต่างๆลงไป และดอกไม้หอมบดให้เข้ากัน ตักน้ำอบที่พักไว้ ใส่ส่วนผสมดังกล่าวแล้วกวนให้เข้ากันแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางกวนให้เข้ากันแล้วตักแบ่งใส่ขวด” นางสาวบุษกร กล่าวทิ้งท้ายว่า “เคล็ดลับของการปรุงน้ำอบไทยสูตรสวนดุสิต อยู่ที่ การดูแลความสะอาดในทุกๆขั้นตอน เพราะถ้าไม่สะอาดน้ำอบไทยจะเก็บไว้ได้ไม่นาน และจะมีกลิ่นเหม็น เมื่อนำไปประพรมก็จะแพ้เป็นผื่นคัน และทางเราก็มีขั้นตอนในการอบกำยานและควันเทียน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะช่วยให้ไม่เกิดการแพ้ และน้ำอบก็จะไม่เสียเก็บได้เป็นปี ยิ่งนานวันกลิ่นจะยิ่งหอม และกลิ่นที่ได้รับความนิยม คือ มะลิและกุหลาบ นอกจากนั้นยังมีอีก ๕ กลิ่น คือ ลีลาวดี จันท์กะพ้อ โมก กระดังงา การเวก” หากใครผ่านไปผ่านมาแถวๆ ตึกเยาวภา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ไม่ต้องแปลกใจที่จะได้กลิ่นหอมไทยๆ อบอวลไปทั่วละแวกใกล้เคียง เนื่องมาจากทางสถาบันฯ ได้มีการปรุงน้ำอบไทยสูตรสวนดุสิต และมีจำหน่ายราคาย่อมเยา ซึ่งการันตีด้วยฝีมือที่สืบทอดกันมายาวนานจากอาจารย์รุ่นเก่าแก่ของสวนดุสิต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อน้ำอบไทยสวนดุสิต ได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาศิลปวัฒนธรรม โทร.๐-๒๒๔๔-๕๓๕๐,๐-๒๒๔๔-๕๓๕๒

3. ข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคมแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันโดยตรง

คาดอีก 13 ปี ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่ม 15 ล้านคน

นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พร้อมกล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพอันดับ 1 ในศตวรรษที่ 21 โดยพบว่า มีมะเร็งมากกว่า 100 ชนิด แต่ละปีชาวโลกต้องเสียชีวิตจากโรคนี้เกือบ 8,000,000 คน คาดว่า ในอีก 13 ปี ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน
ส่วนประเทศไทยพบว่า ขณะนี้โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประเทศกว่า 52,000 คน คาดว่าปีหน้าจะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึง 120,000 ราย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมป้องกันโรคมะเร็ง โดยเน้นปัจจัยหลัก คือ ลดพฤติกรรมเสี่ยงทั้งบุหรี่ อาหาร ออกกำลังกาย การป้องกันโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) ตัวการทำให้เป็นมะเร็งตับ และเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV : Human Papilloma Virus) ต้นเหตุมะเร็งปากมดลูก การเข้าถึงยาต้านมะเร็งมากขึ้น ซึ่งพบว่า มะเร็งร้อยละ 40 สามารถป้องกันได้ สำหรับมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ รองลงมาเป็น ปอด ลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก ช่องปาก/คอหอย และต่อมลูกหมาก ในผู้หญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด รองลงมาเป็นเต้านม ตับ ปอด และลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักนี้ กรมการแพทย์มีนโยบายจะทำโครงการระดับชาติในปี 2551 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตรวจหาทางอุจจาระ เพื่อดูระดับภูมิต้านทาน (Immuchemical stool exam) ซึ่งหากสำเร็จจะสามารถให้การรักษาผู้ที่มีความผิดปกติตั้งแต่ในระยะเริ่ม แรกอย่างได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เสียชีวิตปีละประมาณ 1,500 ราย ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 ที่มาพบแพทย์ เซลล์มะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะอื่นแล้ว

ที่มา : โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ธันวาคม 2550 12:53 น.

1 ความคิดเห็น: